ประวัติความเป็นมาของ ก.ต.ช.

               องค์กรตำรวจเป็นองค์กรราชการที่มีขนาดใหญ่มาก  รับผิดชอบการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี  พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ  การป้องกันปราบปรามการกระทำ ความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยมีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร มีหน่วยงานกระจายอยู่ทุกจังหวัด ทั้งส่วนที่เป็นหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจนครบาล และ ตำรวจภูธร ซึ่งมีสถานีตำรวจบริการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกระจายทั่วราชอาณาจักร ถึง 1,451 สถานี  หน่วยปฏิบัติการเฉพาะทาง ได้แก่ ตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยเทคนิคสนับสนุน เช่น สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น แนวนโยบายการบริหารงานตำรวจแต่ละเรื่องจึงมีลักษณะเป็นนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป

            ในปี พ.ศ.2547 จึงได้มีการปฏิรูประบบการบริหารงานตำรวจ โดยตราเป็น พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญ ได้แก่

              (1) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการตำรวจซึ่งเดิมจะกระจายอยู่ในกฎหมายหลาย ฉบับ นำมาบัญญัติรวมไว้เป็นกฎหมายฉบับเดียว เพื่อเป็นหลักในการบริหารงานตำรวจโดยเฉพาะ และมีการกำหนดขอบเขต อำนาจหน้าที่ของ “ตำรวจ”  ไว้อย่างชัดเจน

              (2) กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติและกองบัญชาการ เพื่อกระจายอำนาจไปยังกองบัญชาการมากขึ้น

              (3) กำหนดให้มีองค์กรนโยบายการบริหารงานตำรวจโดยตรง มีลักษณะเป็นการกำหนดนโยบายการบริหารงานตำรวจในรูปคณะบุคคล โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายบริหารราชการตำรวจและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและจัดระบบด้านการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

              (4) กำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศและกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวน แยกต่างหากจากตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่มีอยู่เดิม

              (5) จัดให้มีกองทุนเพื่อสนับสนุนและพัฒนางานเกี่ยวกับการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาอันจะทำให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมในส่วนซึ่งข้าราชการตำรวจเป็นผู้รับ ผิดชอบมีศักยภาพยิ่งขึ้น

              สำหรับคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เป็นองค์กรกำหนดนโยบาย ที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดขึ้นใหม่ ตามมาตรา 16 ซึ่งเปลี่ยนแปลงหลักการไปจากเดิมที่ให้อธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายแต่เพียงผู้เดียว